จังหวัดสุโขทัย คือจังหวัดที่มีความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์มากที่สุดของประเทศไทย ด้วยหลักฐานจากโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบเจอและตรวจสอบได้ ทำให้สันนิฐานได้ว่า ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรแรกของชาติไทย เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้วโดยตาม ประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1800 ที่ พระยาศรีนาวนำถม พระบิดาแห่งพ่อขุนผาเมือง ได้ขึ้นปกครองสุโขทัย ที่ตอนนั้นยังคงเป็นประเทศราชของขอมอยู่ โดยที่ขึ้นต่อขอมสมาดโขลญลำพง ข้าหลวงจากอาณาจักรขอม
ต่อมาเมื่อพระยาศรีนาวนำถมได้สิ้นพระชนม์ พ่อขุนบางกลางหาว และ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ก็ได้มายึดเมืองคืน และสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี พ่อขุนบางกลางหาวได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดั่งที่เรารู้จักกันนั่นเอง
ส่วนในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระโอรสองค์ที่ 3 ของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรสุโขทัยที่ได้ขยายไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน ทั้ง ด้านการปกครอง การพาณิชย์ ศาสนา กฎหมาย และ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ซึ่งสามารถดูได้จากหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหง ที่ท่านโปรดเกล้าให้จารึกอักษรไทยเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 1826 นั่นเอง
อาชีพด้านเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของชาวสุโขทัยในสมัยนั้น และมีการสร้างเขื่อนสำหรับกักเก็บน้ำ ที่เรียกกันว่า “ทำนบพระร่วง” อีกทั้งยังเป็นเมืองศูนย์การค้าและการผลิตเครื่องเงิน ถ้วยชาม หรือ เครื่องสังคโลก และยังส่งขายไปยังต่างประเทศด้วย
สุโขทัยเริ่มขึ้นเมื่อใดนั้น ในลำดับเวลาและเปรียบเทียบศักราช สมัยสุโขทัย จากหลักฐานที่ได้ในศิลาจารึก พระเจ้าของแผ่นดินไทย ในสมัยราชอาณาจักรสุโขทัย มีอยู่ด้วยกัน 9 พระองค์ ที่อยู่ในราชวงศ์เดียวกัน คือราชวงศ์พระร่วง ได้ขึ้นปกครองอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1781 ถึง พ.ศ. 1981 รวมระยะเวลา ได้ประมาณ 200 ปี
ประวัติศาสตร์สุโขทัย กับราชวงศ์พระร่วง
ราชวงศ์พระร่วงหรืออีกชื่อคือราชวงศ์สุโขทัย เป็นราชวงศ์ที่นักประวัติศาสตร์ใช้เรียกกลุ่มเจ้าผู้ปกครองแคว้นสุโขทัย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อครั้งสมัยสุโขทัยนั้นเรียกชื่อว่าราชวงศ์ใดกันแน่ หากแต่เมื่อได้รวบรวมหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้แล้ว ก็พบว่าผู้คนที่อาศัยภายในเขตสุโขทัยหรือบ้านเมืองแว่นแคว้นอื่นมักจะเรียกพระมหากษัตริย์ของสุโขทัยนามว่า “พระร่วง” ซึ่งเป็นนามที่เรารู้จักกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มไทยในสมัยโบราณนั้น โดยเชื้อสายของวงศ์พระร่วงนี้ได้สืบทอดยาวนานตลอดสมัยสุโขทัย จนได้ตกอยู่ภายใต้ปกครองของอยุธยาแล้วก็ยังปรากฏอยู่โดยผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ระหว่างทั้งสองอาณาจักร มีสัญลักษณ์หรืออนุสรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์พระร่วงที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่า รูปพระร่วง-พระลือ ในซุ้มพระร่วง-พระลือที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงราชวรวิหาร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตามความเชื่อของคนรุ่นเก่าแก่ในจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ที่นี่คือนิวาสถานดั้งเดิม หรือเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วงนั่นเอง
ราชวงศ์พระร่วง ซึ่งเป็นเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ชนชั้นปกครองไทยมีอำนาจอยู่ในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “สมัยสุโขทัย” โดยฐานอำนาจของราชวงศ์พระร่วงก็คือ ศรีสัชนาลัยสุโขทัย ซึ่งเป็นทั้งศูนย์การปกครองของรัฐบาลและเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ความชัดเจนถึงความเป็นมาของราชวงศ์นี้ยังไม่สามารถที่จะระบุชี้ชัดให้แน่นอนได้ เพราะในตอนนี้นั้นมีหลักฐานหรือสิ่งที่กล่าวอ้างถึงน้อยมาก และพระร่วงในความทรงจำของคนนับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางลงมานั้น อาจเรียกว่าเป็นตำนานก็ว่าได้ เพราะเรื่องราวนั้นเต็มไปด้วยการเล่าถึงอภินิหารและความน่ามหัศจรรย์ยิ่ง ไปผนวกกับเรื่องราวของบ้านเมืองและสถานที่ต่าง ๆ ในกลุ่มอาณาจักรสุโขทัยเดิม (ที่ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพรช พิษณุโลก ปากยม และพระบาง)
ราชวงศ์พระร่วง นั้น เป็นราชวงศ์ที่ได้สถาปนาขึ้นเมื่อพ่อขุนบางกลางหาวได้ทรงราชาภิเษกเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ คำว่า ‘พระร่วง’ เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้เรียกถึงกษัตริย์หรือผู้นำรัฐสุโขทัย คำว่า ร่วง แปลว่า รุ่ง(โรจน์) ที่ในสำเนียงไทยกลางตรงกับคำว่า รุ่ง และไปพ้องกับสำเนียงล้านช้างที่อ่านว่า ฮุ่ง ซึ่งอาจจะไปสืบเนื่องเข้ากับตำนานท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง ที่เป็นวีรบุรุษในตำนานของสองฝั่งโขง อย่างไรก็ตาม คำว่าพระร่วงนั้นเป็นคำที่คิดได้ขึ้นมาใหม่เมื่อครั้งสถาปนาวงศ์ ไม่ใช้ราชวงศ์ดั้งเดิมที่ติดตัวพ่อขุนบางกลางหาว มาตั้งแต่ต้น ทำให้ความหมายของคำว่า ร่วง นี้ ต่อมาเป็นพระนามของพระพุทธรูปองค์หนึ่งว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธปูชนียบพิตร ซึ่งเป็นการย้ำความหมายให้ ร่วงโรจน์ มีความหมายไปในทางเดียวกับ รุ่งโรจน์ อีกด้วย
แต่ด้วยเหตุความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ โดยมากจึงคิดกันไปว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุม พ่อขุนผาเมือง ตลอดจนพระมหาเถรศรีศรัทธา ทรงเป็นราชวงศ์พระร่วงด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงแล้วนั้น ทั้งสามพระองค์นี้เป็นราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (ราชวงศ์นำถุม หรือราชวงศ์ผาเมือง) ซึ่งเอกสารทางวิชาการส่วนใหญ่ก็ยืนยันตรงกันว่า ต้นวงศ์(ผู้สถาปนา) คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และยังได้สืบเนื่องต่อจนมาถึงพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่เชื่อกันว่าสืบมาจนถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงแยกมาตั้งวงศ์ใหม่ (ราชวงศ์จักรี) อีกด้วย
ประวัติศาสตร์สุโขทัย ลำดับของ ราชวงศ์พระร่วง ใน 120 ปี นั้น ได้แก่
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว)
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็มคือ กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิมคือ พ่อขุนบางกลางหาว ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1781 แต่ไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติเมื่อปีใด มีผู้สันนิษฐานที่มาของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าบ้านเดิมของพระองค์อาจอยู่ที่ “บ้านโคน” ในจังหวัดกำแพงเพชร
พ่อขุนบาลเมือง
พ่อขุนบานเมือง เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง และยังเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชในพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงเสวยราชสมบัติในอาณาจักรสุโขทัยหลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสด็จสวรรคต และครองราชย์อยู่จนถึง พ.ศ. 1822
พ่อขุนบานเมืองนั้นได้ทำสงครามกับเมืองต่าง ๆ เพื่อทำการขยายอำนาจ โดยมีสมเด็จพระอนุชาธิราช (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ได้เป็นแม่ทัพ ดังปรากฏไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “กูไป่ท่บ้านท่เมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายเวนยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู” หมายความว่า เมื่อพระรามคำแหงได้ยกทัพไปตีเมืองอื่นจนได้ชัยชนะแล้ว ก็จะนำช้าง ผู้คน ทรัพย์สินเงินทอง มาถวายแก่พระราชบิดา ต่อมาเมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็กระทำอย่างเดียวกันกับพ่อขุนบานเมือง
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ได้ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1822 ถึง พ.ศ. 1842 รวมเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง พระอนุชาของพ่อขุนบาลเมือง พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ราชอาณาจักรไทยมากที่สุดพระองค์หนึ่งก็ว่าได้ กล่าวคือ ทรงได้ขยายอาณาเขตประเทศไทยออกไปอย่างกว้างขวางทุกทิศทางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้า ทรงได้ประดิษฐ์อักษรไทยที่เป็นรากฐานของหนังสือไทยได้ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ทรงส่งเสริมการค้าอย่างเสรี โดยไม่เก็บภาษีทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ทรงส่งเสริมการเกษตร ทั้งการทำสวน และการทำนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า เครื่องสังคโลกโดยได้นำวิธีการมาจากประเทศจีน เครื่องสังคโลกที่ทำขึ้นมานี้นอกจากผลิตขายภายในประเทศแล้ว ยังได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ ด้วยทางเรืออีกด้วย เช่น ประเทศฟิลิปปินส์และ ประเทศบอร์เนียวเป็นต้น
นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงส่งเสริมพุทธศาสนา โดยได้นำพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาท จากกรุงลังกา ให้เข้ามาเผยแพร่ในราชอาณาจักรสุโขทัยจนเป็นปึกแผ่น ให้เกิดความสุขสงบ และมีศีลธรรมอันดีในหมู่พสกนิกรชาวไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นแล้วยังก่อให้เกิดศิลปวัตถุที่งดงามมากมาย อันเนื่องมาจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือเป็นมรดกล้ำค่า ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
พระยาเลอไท
พระเจ้าเลอไท เป็นพระราชโอรสองค์โต ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และในรัชกาลนี้ สุโขทัยก็เริ่มเสื่อมเสียอำนาจ ทำให้หัวเมืองต่างๆ เริ่มเกิดการแข็งข้อขึ้น อย่างเช่นขอม และมอญ เป็นต้น
ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1842 ถึง พ.ศ. 1891 รวม 49 ปี
พระยางั่วนำถุม
พระยางั่วนำถุม เป็นพระโอรสของพ่อขุนบานเมือง สันนิษฐานกันว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ คงได้อภิเสกสมรสกับพระธิดาของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม เหตุที่สันนิษฐานเช่นนั้นคงเนื่องจากเป็นธรรมเนียมของคนสมัยนั้น ที่นิยมนำเอาชื่อบรรพบุรุษมาตั้งเป็นชื่อหลาน ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า งั่ว เป็นคำนำหน้านามที่แสดงว่าเป็นบุตรชายคนที่ ๕ และ นำถุม ถาษาถิ่นแปลว่าน้ำท่วม
พระยางั่วนำถุมเป็นกษัตริย์ครองเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยมาก่อนตามจารึกหลักที่ 15 แต่ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระยาเลอไทย ซึ่งเป็นพระบิดาของพระยาลิไทยกษัตริย์ลำดับที่ 6
เรื่องราวของพระยางั่วนำถุมยังคลุมเครือเนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่มาก
พระเจ้าลิไท หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1
พระยาลิไท เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางั่วนำถุม เดิมได้ทรงปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ในฐานะองค์อุปราชหรือรัชทายาทเมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1882 ต่อมาเมื่อพระยาเลอไทเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 1884 พระยางั่วนำถุมก็ได้ขึ้นครองราชย์จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 1890 พระยาลิไทต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ขึ้นอย่างไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม เมื่อพระยาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติได้ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1890 โดยทรงพระนามว่า พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า “พญาลิไท” หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1
พระเจ้าไสยลือไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 2
พระยาลือไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 2 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยลำดับที่ 10 ได้ครองราชย์สืบต่อจากพระยาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1911 – พ.ศ. 1942)
พระยาลือไทย ได้ขึ้นครองราชย์ในตแนอาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอเสื่อมอำนาจแล้ว โดยอาณาจักรได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 แคว้นคือ แคว้นชากังราวประกอบด้วยเมืองตาก ชากังราว (กำแพงเพชร) และนครสวรรค์ กับแคว้นสุโขทัย ประกอบด้วยเมืองสุโขทัย อุตรดิตถ์ สองแคว (พิษณุโลก) พิจิตร นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้นสำคัญ เช่น เมืองหงสาวดีและเมืองอู่ทองต่างก็แข็งข้อ เมื่อลุล่วงถึงปี พ.ศ. 1921 สุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระยาลือไทย เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรสุโขทัย
หลังจากหมดยุคสมัยของสุโขทัยลง นับเป็นช่วงสมัยอยุธยาต่อจากนั้น ประวัติศาสตร์สุโขทัยก็มีให้พบเจอน้อยมาก แต่อย่างไรก็ดี ความงดงามของอารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยนั้น ยังคงมีเศษซากให้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งวัดวาอาราม และเมืองเก่าที่ทุกท่านสามารถไปเยี่ยมชมความงดงามกันได้อยู่ ที่จังหวัดสุโขทัย
อ้างอิง