วันนี้เราจะพาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทย เปิดประวัติ กรุงธนบุรี ที่เป็นจุดเริ่มต้นเมืองหลวงของไทย อย่างกรุงเทพมหานครเมืองหลวงในยุคสมัยปัจจุบันนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร สภาพโดยทั่วไป เศรษฐกิจการเมืองการปกครองและสังคมสมัยธนบุรีเป็นอย่างไร ตามไปดูกันเลย
1. ประวัติและความเป็นมาของอาณาจักรกรุงธนบุรี
หลังจากที่เมืองกรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงไปเป็นครั้งที่สองจากการสู้รบสงคราม พม่าได้ควบคุมเมืองหลวงและเมืองที่อยู่ใกล้ไว้ได้ เมืองกรุงศรีอยุธยาก็ได้ล่มสลายไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นเมืองได้อีก และก็ยังมีอีกหลายหัวเมืองที่ยังไม่เสื่อมสลายทำให้ ผู้นำของแต่ละหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นได้ตั้งตัวเป็นใหญ่เพื่อที่จะยึดครองพื้นที่หรืออาณาจักรนั้นไว้ และพระเจ้าตากสินก็เช่นกันได้รวบรวมพลในการตีหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ได้จนได้เมืองจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น และระหว่างนั้นก็ได้รวบรวมพลเพื่อเข้าตีเมืองธนบุรีและอยุธยาคืนจากข้าศึก และได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี หลังจากที่พระเจ้ามังระแห่งพม่าได้รู้ข่าวการยึดคืนของอยุธยาและกอบกู้เอกราชได้จึงได้ส่งกองกำลังเข้ามาที่อยุธยา แต่แล้วก็พ่ายพลไปด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีและทัพของธนบุรี
หลังจากนั้นพระเจ้าแห่งกรุงธนบุรีต้องการที่จะรวมชาติไทยให้เป็นหนึ่งเดียวจึงได้รวบรวมกำลังพลเข้ายึดเมืองต่าง ๆ
เริ่มด้วยเมืองพิษณุโลก พระเจ้าฝาง และหัวเมืองนครศรีธรรมราช และหัวเมืองอื่น ๆ ไปพร้อมกับการร่วมการสู้รบกับข้าศึกศัตรูที่อยู่ใกล้ระแวกเพื่อนบ้าน และถือได้ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รวบรวมชาติให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ และอาณาจักรกรุงธนบุรีเป็นอาณาจักรที่มีการปกครองที่สั้นที่สุดของไทย มีระยะเวลาเพียง 15 ปี เท่านั้นระห่างปี พ.ศ. 2310 – 2325 และมีเพียงกษัตริย์พระองค์เดียวในการปกครองประเทศ
2. การเมืองและการปกครองสมัยกรุงธนบุรี
การปกครองของ กรุงธนบุรี ได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน
1. การปกครองส่วนกลาง เมืองกรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลางในการดูแลบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมดโดยมีอัครมหาเสนาบดี ตำแหน่ง เจ้าพระยา มีจำนวน 2 ตำแหน่ง
1.1 สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ผู้ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือในระบบราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ในฐานะเจ้าเสนาบดีกรมมหาดไทย โดยมียศเป็น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือเรียกกันว่า ออกญาจักรี
1.2 สมุหพระกลาโหม อัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร ผู้ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ร่วมเป็นที่ปรึกษาข้อราชกิจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยมียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา หรือเรียกกันว่า ออกญากลาโหม และจตุสดมภ์นั้นก็ยังคงมีไว้คงเดิมคือ ตำแหน่งพระยา ของกรมเวียง กรมคลัง กรมวัง และกรมนา
2. การปกครองส่วนภูมิภาค ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ
2.1 หัวเมืองชั้นใน คือ เมืองที่อยู่บริเวณรอบ ๆ เขตราชธานี ซึ่งเรียกตำแหน่งของผู้ปกครองเมืองว่า ผู้รั้งเมือง มีหน้าที่รับคำสั่งและนโยบายต่าง ๆ จากเสนาบดีจตุสดมภ์โดยตรงจากส่วนกลาง
2.2 หัวเมืองชั้นนอก คือหัวเมืองที่อยู่ไกลออกไปจากเขตราชธานี เรียกเมืองพระยามหานคร โดยมีเจ้าเมือง คณะกรมการเมืองปกครอง มีจตุสดมภ์เหมือนกับราชธานี มีเมืองเล็กเมืองใหญ่ที่ขึ้นตรงต่อเมืองพระยามหานคร และหัวเมืองชั้นนอกนี้แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นตรี ชั้นจัตวา
3. เศรษฐกิจและสังคม
สภาพสังคมสมัย กรุงธนบุรี มีการแบ่งชนชั้นออกเป็น พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ไพร่ และทาส ซึ่งในส่วนของไพร่เป็นชนชั้นมีจำนวนมากที่สุดในสังคม และในสมัยนั้นได้มีการสู้รบกับพม่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ต้องมีการเรียกกำลังพลมาช่วยในการรบและเพื่อป้องกันไม่ให้กำลังพลหลบหนีพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ออกกฎหมายการสักเลกขึ้นโดยไพร่ที่เป็นผู้ชายที่อายุถึงเกณฑ์ เพื่อไม่ให้หลบหนีการสู้ศึก หากหลบหนีจะต้องโทษถึงประหารชีวิตเลยทีเดียว
และในส่วนของเศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรีนั้น ในช่วงแรกกรุงธนบุรีมีการสูญเสียจากการทำสงคราม ทำให้สภาพบ้านเรือนเสียหายอย่างหนักหน่วง และยังเกิดทุพภิกขภัยครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้ข้าวมีราคาสูง และขาดแคลนอาหาร พระเจ้ากรุงธนบุรีถึงขั้นต้องสละเงินส่วนพระองค์เพื่อซื้อข้าวให้กับราษฎร และได้มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวกันเองหลังจากที่พักรบสงครามในแต่ละช่วงและได้พัฒนาการค้าขายโดยเฉพาะกับคนจีนซึ่งก็ทำให้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. การศึกษาและวัฒนธรรม
ด้านการศึกษาสมัยกรุงธนบุรี ยังเป็นการศึกษาที่หลัก ๆ คือวัดเป็นแหล่งการศึกษาให้กับผู้เรียน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่จะได้รับโอกาสในการศึกษา เพราะสามารถที่จะกินนอนที่วัดได้ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปทางการอ่านออกเขียนได้และอบรมด้านความประพฤติ ส่วนทางวิชาชีพนั้นก็จะให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่โดยตรงที่จะสอนลูกหลานในอาชีพที่พ่อแม่ทำอยู่ ส่วนเด็กผู้หญิงนั้นจะให้เรียนการทำอาหาร การเย็บปักถักร้อย การฝึกมารยาทของกุลสตรีไทย และการทำความสะอาดบ้านเรือนเพราะสมัยนั้นไม่ค่อยจะส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือจึงทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้น้อย
ส่วนด้านวัฒนธรรม ด้วยความที่สมัยธนบุรีมีระยะเวลาที่ไม่ยาวนักเพราะต้องมีการสู้รบสงครามกันมากทำให้การฟื้นฟูด้านวัฒนธรรมนั้นมีไม่มากนักเช่นกัน ซึ่งในด้านศาสนาพระเจ้าธนบุรีได้แต่งตั้งพระสังฆราช และมีวัฒนธรรมที่ให้เด็กผู้ชายได้เรียนหนังสือ ส่วนผู้หญิงนั้นต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน
5. การสิ้นสุดของกรุงธนบุรี
ตามหลักฐานที่ส่วนใหญ่กล่าวคือ เป็นเหตุการจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นการก่อกบฎของพระยาสวรรค์
โดยบังคับให้พระองค์ให้ออกผนวช และด้วยสมเด็จพระยามหากษัตริย์ที่ทรงทำศึกอยู่กัมพูชาทราบข่าวจึงได้กลับมาปราบปรามจลาจลในครั้งนั้น และได้สำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้าขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ด้วยท่อนจันทน์ และได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และได้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาได้พระราชทานนามว่า กรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับการเปิดประวัติกรุงธนบุรีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเมืองหลวงของไทยที่เริ่มมาจากพระเจ้าตากสินมหาราชที่ต้องการจะรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศชาติ แม้ว่าระยะเวลาของการครองราชย์จะมีเวลาเพียงไม่นาน และช่วงเวลาที่ขึ้นครองราชย์นั้นต่างก็มีเหตุการณ์สถานการณ์ในการต่อสู้รบก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพระเจ้าตากหรือพระเจ้ากรุงธนบุรีในการจะทำให้บ้านเมืองเป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกราชจากข้าศึกศัตรู
อ่านบทความ “ชนชั้นกลาง” คือใครหรือกลุ่มใด ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ
เครดิตรูป www.pexels.com