วันนี้เราจะพาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทย ประวัติกรุง รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบันนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร สภาพโดยทั่วไป เศรษฐกิจการเมืองการปกครองและสังคมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างไรกันบ้าง ตามไปดูกันเลย
1. ประวัติและความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์
ภายหลังจากที่ สมเด็จพระยามหากษัตริย์ได้ปราบดาภิเเษกตัวเองขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และทรงพระราชทานนามว่ากรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากกรุงธนบุรี และได้ทรงใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งเป็นราชธานีใหม่ พร้อมกับการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา ซึ่งพระองค์คือกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์จักรี และได้ตั้งชื่อราชธานีและเป็นเมืองหลวงของไทยในนามกรุงเทพมหานครมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีได้สืบทอดกันมายาวนานถึงปัจจุบัน มีกษัตริย์ถึง 10 พระองค์ด้วยกัน โดยเริ่มจากรัชกาลที่ 1 มาจนถึงปัจจุบันคือ รัชกาลที่ 10 และในช่วงแรกของการครองอำนาจนั้นก็ได้มีการรรบต่อสู้จากพม่า เวียดนาม และลาว มาเป็นระยะ ๆ ตลอดจนมาในช่วงกลางได้มีการเผชิญหน้ากับประเทศล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ได้มีการตกลงและเจรจากันทางการฑูต จนทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากภัยคุกคามจากชาติตะวันตกส่งผลให้ได้มีการพัฒนาประเทศชาติไปสู่ชาติสมัยใหม่ ที่มีการรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลาง โดยมีชาติตะวันตกร่วมกำหนดพรมแดน และได้มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายอย่างตลอดจนการเมืองและการปกครอง ได้มีการค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น พร้อมกันนี้ก็ได้มีการยกเลิกระบบทาสในสมัยรัลกาลที่ 5 มาจวบจนปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง จนได้มีการเรียกร้องของประชาชน ให้เกิดการปฏิรูปการเมืองการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแทนระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งการคราวนั้นได้เรียกว่าเป็นการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
2. การเมืองและการปกครองสมัย รัตนโกสินทร์
ด้านการเมืองและการปกครองนั้น แบ่งออกเป็นดังนี้
1. สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ซึ่งในช่วงสามรัชกาลนี้เป็นส่วนของการฟื้นฟูประเทศให้มีสภาพดังเดิมก่อนที่เสียกรุงศรีอยุธยาไปในครั้งที่ 2 มีการปกครองบ้านเมืองตามสมัยอยุธยาเช่นเดียวกันกับสมัยกรุงธนบุรี โดยแบ่งการปกครองเป็น ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ในระบบส่วนกลางนั้นจะมีการจัดการราชการแผ่นดิน 4 ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา และในส่วนภูมิภาค มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช
2. การปกครองที่ปรับตามประเทศทางตะวันตก ในส่วนนี้ได้มีการเข้ามามีบทบาทของชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น
2.1 ในส่วนของรัชกาลที่ 4 ยังมีการปกครองด้วยด้วยระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีการปรับเปลี่ยนการปกครองให้มีความทัดเทียมกับประเทศทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกประเพณีหมอบคลานขณะเข้าเฝ้า และยกเลิกการแสดงตัวและแอบมองในเวลาเสด็จนอกวัง และให้ราษฎรเข้าเฝ้าได้อย่างใกล้ชิด ยื่นเสนอฎีกาเรื่องต่าง ๆ ได้ ให้ราษฎรมีสิทธิเลือกนับถือศาสนาตลอดจนให้ชาวต่างชาติมาสอนหนังสือให้แก่พระโอรส พระราชธิดา รวมถึงข้าราชบริพารและข้าราชการ
2.2 สมัยรัชการที่ 5 ได้มีการพัฒนาและปฏิรูปการปกครองในทุกด้าน ดังนี้
-การปกครองส่วนกลาง ให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดน และสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และได้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงแทนโดยในปัจจุบันได้มีถึง 20 กระทรวงด้วยกัน เพื่อให้มีการบริหารงานที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกัน
-การปกครองส่วนภูมิภาค มีการเปลี่ยนจากหัวเมืองมาเป็นเทศาภิบาล และรวบรวมหัวเมืองหลาย ๆ เมืองเป็นมณฑล และแต่ละมณฑลมีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้ดูแลปกครอง และขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และแต่ละเมืองแบ่งเขตการปกครองออกไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มจัดการสุขาภิบาลในเขตกทม. และต.ท่าฉลอม สมุทรสาคร และให้เริ่มมีการเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
2.3 สมัยรัชกาลที่ 6 ให้มีการรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นแต่ละภาคโดยมีอุปราชปกครอง และขึ้นตรงต่อพระองค์เอง ส่วนกรุงเทพ ฯ นั้น ให้มีฐานะเหมือนกับมณฑลหนึ่ง ให้มีสมุหพระนครบาลปกครองขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และให้เรียกจังหวัด แทน เมือง
2.4 สมัยรัชกาลที่ 7 ได้สิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมี คณะราษฎร กลุ่มผู้มีความคิดก้าวหน้า ซึ่งมีพระยาพหลพยุหเสนา เป็นผู้ได้ปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475
และรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และได้ใช้รัฐธรรมนูญนี้เรื่อยมาจวบจนถึงรัชกาลที่ 9 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และหลังจากนั้นก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้้งในปี 2560 โดยคณะปฏิวัติรัฐประหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และก็ได้มีการใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
3. เศรษฐกิจในสมัย รัตนโกสินทร์
ลักษณะทางเศรษฐกิจก่อนสัญญาเบาว์ริง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 โดยสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นจะเป็นลักษณะ เศรษฐกิจแบบยังชีพ เป็นการผลิตที่ใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือน และการแลกเปลี่ยนภายในท้องถิ่น ส่วนรายได้นั้นมาจากการจัดเก็บภาษีในรูปแบบหลัก ๆ คือ จังกอบ คือภาษีที่เก็บจากสินค้าขาเข้าและขาออก อากร คือภาษีที่เรียกเก็บจากการทำอาชีพของราษฎรที่ไม่ใช่การค้า ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากราษฎร จากการที่ทางการให้บริการ ส่วย คือ สิ่งของและเงินทดแทนค่าแรงที่ราษฎรจ่ายให้โดยไม่ต้องมาทำงานให้ทางการ และในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการจัดเก็บภาษีมากยิ่งและมีกำไรจาก การประมูลผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า และการค้าเรือสำเภาหลวง
เศรษฐกิจไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ได้มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษส่งผลให้การค้ากับต่างประเทศมีความคล่องตัว และมีการค้าที่เสรีมากขึ้น และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการคลัง โดยให้มีการทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อคุมรายรับจ่ายของแผ่นดิน เปลี่ยนการใช้มาตรฐานเงินมาเป็นมาตรฐานทองคำและจัดพิมพ์ธนบัตรใช้เป็นครั้งแรกเดือนกันยายน 2445 จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ แบงก์สยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน และในรัชกาลที่ 6 ได้มีการจัดตั้งธนาคารออมสิน เพื่อส่งเสริมการออม จัดตั้งกรมอากาศยานสนามบินดอนเมือง ขยายเส้นทางรถไฟที่มากขึ้นทั้งสายเหนือสายใต้ แลจัดการด้านการชลประทานโดยการสร้างเขื่อนพระรามหก จังหวัดอยุธยา เป็นเขื่อนแรกแห่งประเทศไทย ประกอบกับช่วงนั้นได้มีสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจของโลกตกต่ำมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ทำให้ได้มีการตัดงบประมาณรายจ่ายของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม และการลดเงินเดือนของข้าราชการต่าง ๆ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายของพระราชสำนักและส่วนพระองค์ และเพิ่มอัตราภาษีศุลากากร และเก็บเงินค่าธรรมเนียมคนเข้าเมือง
เศรษฐกิจไทยยุคทุนนิยมโดยรัฐ โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีของไทย ได้มีนโยบายพัฒนาประเทศคือ ส่งเสริมลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ตามคำขวัญ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ และสนับสนุนให้คนไทยมีการประกอบอาชีพการค้าขาย และด้านรัฐบาลได้ลงทุนในด้านอุตสาหกรรมที่เอกชนไม่มีเงินทุนหรือขาดความเชี่ยวชาญชำนาญด้านนั้น ๆ
เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้นำเอาความคิดเกี่ยวกับการวางแผนเศรษฐกิจมาใช้ เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น รัฐบาลเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 – 2509 และใช้เรื่อยมาโดยมีการปรับปรุงมาถึงปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และจะประกาศใช้ฉบับที่ 13 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งฉบับนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ 2566-2570 และภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่คนที่หนึ่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นั้นก็ได้มีการปฏิบัติเป็นระยะ ๆ เมื่อมีการเห็นว่าคณะรัฐบาลทำงานไม่โปร่งใสมีการคอรัปชั่นมากมายที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เศรษฐกิจของไทยไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจวบจนปัจจุบัน
4. สังคมสมัยรัตนโกสินทร์
สังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในช่วงรัชกาลที่ 1-3 ยังเป็นสังคมในสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรี คือ ยังเป็นสังคมระบบศักดินา มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ คือ พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนาง พระสงฆ์ ไพร่ และทาส หลังจากได้มีสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง รัชกาลที่ 5 ได้มีการยกเลิกระบบไพร่ และการเลิกทาส และมีการปฏิรูปการศึกษาโดยจัดระบบการศึกษาให้เป็นการเรียนการสอนตามชาติตะวันตก เพื่อเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ และพัฒนาความก้าวหน้าให้กับประเทศ และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ออกพระราชบัญญัติประถมศึกษามี 2464 เป็นการบังคับให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา และหลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น สังคมไทยจึงไม่มีระบบศักดินา ไพร่ และทาส ทุกคนล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และปัจจุบันสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยมีเทคโนโลยีเข้ามากขึ้นทำให้มีการก้าวทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น
5. ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์
ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1-3 ได้มีการทำนุบำรุงทางด้านศิลปกรรม ด้านสถาปัตยกรรมทั้งการสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ ด้านประติมากรรมได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาใหม่ตลอดจนสร้างให้มีความสวยงามเน้นไปทางเครื่องประดับของพระพุทธรูป ส่วนในด้านจิตกรรม ภาพเขียนยังคงเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีศิลปะจีนผสมอยู่บ้าง และมักใช้สีและปิดทองลงที่ภาพเขียนของฝาผนังโบสถ์ได้อย่างงดงาม ด้านประณีตศิลป์เป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักประตูไม้สักที่เป็นลายจำหลักไม้ ด้านนาฏศิลป์ ให้มีการตั้งโขนทั้งวังหลวงส่งเสริมทั้งดนตรีและการฟ้อนรำที่มีท่าทางและช่วงจังหวะท่ารำให้มีความสนุกสนานและสวยงาม ด้านวรรณกรรมได้มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติให้เป็นภาษาไทยเช่น สามก๊ก ตลอดจนเป็นวรรณคดีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ บทละครอิเหนา และได้ส่งเสริมให้มีการแปลและเรียบเรียงวรรณคดีประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเรื่อง มิลินทปัญญา
ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 4-ปัจจุบัน
ในส่วนของงานศิลปกรรมได้มีการออกแบบให้สถานที่ราชการและพระราชวังให้เป็นศิลปะตะวันตก และได้ทำนุบำรุงรักษาศิลปกรรม วัตถุโบราณต่าง ๆ ให้คงอยู่ตลอดจนปัจจุบันให้มีการดูแลและรักษาคงไว้ซึ่งความเป็นศิลปะที่งดงามให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้เข้าชมและท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ด้านวัฒนธรรมประเพณี ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ยกเลิกประเพณีหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้า ยกเลิกผมทรงมหาดไทยเปลี่ยนมาไว้ผมทรงสากลแบบฝรั่ง และการแต่งกายก็ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และด้านประเพณีการสืบสันตติวงศ์ ได้ทรงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร” ขึ้นแทน
ตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีมาแต่เดิม การกำหนดคำนำหน้านาม ให้มีเด็กหญิง เด็กชาย นาย นาง นางสาว ยกเลิก ร.ศ.มาใช้ พ.ศ. แทน
และใช้คำว่า นาฬิกา แทนการนับเวลาทุ่มโมง และประเพณีและวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่ได้ทรงยกเลิกและเปลี่ยนไปใช้แบบอื่นที่ทันยุคทันสมัยมากขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้างกับประวัติ รัตนโกสินทร์ ถิ่นกำเนิดกรุงเทพ เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง ตลอดจนศิลปะวัฒนธรรมในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาจนถึงปัจจุบันนี้เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายจากสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาไปในครั้งที่สอง ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้าน้้นแทบไม่มีอะไรให้เหลือบ้านเมืองพังพินาศจากการต่อสู้รบสงครามทั้งการสู้รบภายในและต่างชาติ แต่ได้มีการร่วมแรงร่วมใจกันของทั้งประชาชนและกษัตริย์ช่วยกันสร้างและพัฒนาขึ้นมาให้ความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่เชื่อได้ว่าหากไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบบริหารงานแผ่นดินและมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เป็นคนดี เก่งและฉลาด เห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนคนไทยเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือผลประโยชน์ของพวกพ้อง คาดหวังว่าประเทศชาติของเราคงมีความเจริญรุ่งเรืองและรุดหน้าไปได้ไกลและเป็นที่หนึ่งในทุก ๆ ด้านของอาเซียนเลยก็ว่าได้
อ่านบทความ ประวัติศาสตร์สุโขทัย จุดเริ่มต้นอาณาจักรและลำดับ การปกครอง ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
เครดิตรูป www.google.com