
ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคเหนือนั้น มีหลากหลายประเพณีด้วยกัน วันนี้เราก็จะพาทุกคนมารู้จักกับ 5 ประเพณีภาคเหนือ ที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และแต่ละประเพณีนั้นก็มีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไปดูกันว่าแต่ละประเพณีนั้นมีอะไรกันบ้าง
1. ประเพณีปี๋ใหม่เมือง
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นประเพณีภาคเหนือที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ไทย หรือเรียกกันว่า ปี๋ใหม่เมือง ประเพณีปี๋ใหม่เมืองนี้ จะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน ไปสิ้นสุดวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี โดยจะมีกิจกรรมในวันต่าง ๆ ดังนี้
วันที่ 1 ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน จะถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า หรือทางเหนือเขาจะเรียกกันว่า วันสังขารล่อง ในวันนี้ชาวบ้าน จะจุดประทัด จุดพลุ หรืออาจจะยิงดินปืนขึ้นฟ้า เพราะเชื่อว่าเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีหรือเสนียดจัญไรออกไปจากชีวิต พร้อมกับมีการทำความสะอาดบ้านเรือนคอยต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามา และเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตก็จะมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง
วันที่ 2 ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 14 เมษายน วันนี้จะเรียกว่าวันเนา หรือว่าวันเน่านั่นเอง วันนี้มีความเชื่อกันว่าเป็นวันที่ดีในการเริ่มชีวิตใหม่ในปีใหม่ ก็จะมีการห้ามด่าว่าร้ายใส่กัน ไม่ทะเลาะกัน ให้มีการอวยพร พูดดี ๆ พูดจาเพราะ ๆ พูดเรื่องราวดี ๆ ให้กัน จะทำให้มีโชคมีชัย และโชคดีไปตลอดปี และวันนี้จะเรียกอีกอย่างว่า วันดา เพราะในวันนี้ จะมีการจัดเตรียมข้าวของเพื่อนำไปทำบุญวัดในวันถัดไป โดยจะมีการทำขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมจ๊อก หรือขนมเทียน ข้าวต้มมัด ห่อนึ่ง และอาหารอย่างอื่นตามที่ต้องการ และช่วงบ่าย ๆ ของวันจะเป็นการขนทรายเข้าวัด โดยจะเป็นการขนทรายจากแหล่งน้ำลำคลองใกล้บ้านไปก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัด ซึ่งเชื่อกันว่าระหว่างที่เราเข้าวัดทำบุญตลอดปีที่ผ่านมาเรามักจะเหยียบเอาเม็ดที่วัดติดออกมาด้วย จึงเป็นการนำทรายเหล่านั้นเข้าไปคืนที่วัดเพื่อวัดจะได้นำทรายเหล่านั้นไปทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไป และการทำตุง จะมีการทำตุงเพื่อนำไปปักไว้ที่กองเจดีย์ทรายที่วัดในวันถัดไป โดยการทำตุงนั้นจะทำด้วยกระดาษสวยงาม มัดติดปลายไม้ที่ยาว แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีบ้านไหนทำกันเพราะว่าสามารถหาซื้อตุงได้ที่ร้านค้าทั่วไปได้ และมีความเชื่อกันว่าหากเมื่อได้ตายไปแล้ว จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยตุงนี้
วันที่ 3 ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน หรือเรียกว่าวันเถลิงศก วันนี้เป็นเริ่มต้นศักราชใหม่ วันนี้ชาวบ้านจะตื่นนอนแต่เช้าเพื่อไปทำบุญตักบาตร ถวายขนมอาหาร ถวายตุง ถวายขันข้าว และฟังธรรม กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และหลายที่ก็จะมีกิจกรรมการแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งการแห่งไม้ค้ำโพธิ์ หรือทางเหนือเรียกว่า ไม้ค้ำสลี เป็นการแห่ไม้ค้ำเพื่อนำไปค้ำยันกิ่งไม้ในวัดไม่ให้ล้มแล้วยังมีความเชื่อว่าเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้สืบสานยาวนานต่อไป และนอกจากนั้นแล้วยังจะสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้านในการช่วยกันทำขบวนแห่ไม้ค้ำอีกด้วย และวันนี้จะเป็นวันที่ลูกหลานจะพากันไปรดน้ำดำหัวขอพรจากพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
วันที่ 4 ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 16 เมษายน วันนี้จะเรียกว่า วันปากปี เป็นวันที่ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำให้กับเจ้าอาวาส เพื่อเป็นการขอขมาคาราวะแก่เจ้าอาวาสวัด และก็จะจัดนำอาหารต่าง ๆ ไปถวายพระที่วัด เรียกว่าการทานขันข้าว ให้กับพ่อแม่พี่น้องหรือเครือญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว วันที่ 5 ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 17 เมษายน เป็นวันปากเดือน เป็นวันที่ชาวบ้านจะทำการสะเดาะเคราห์กรรมต่าง ๆ เพราะมีความเชื่อว่าาการสะเดาะห์หรือทำพิธีสืบชะตานั้นจะช่วยต่ออายุและเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวและบ้านเมืองนั้นมีความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองให้ยืนยาวต่อไป
2. ประเพณียี่เป็ง
ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีภาคเหนือที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ช้านาน โดยยี่เป็งจะตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งในทางภาคเหนือ คำว่า ยี่ ก็คือ สอง ส่วนคำว่า เป็ง ก็คือ เพ็ญ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งก็จะทำให้ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของทางภาคกลาง และก็เป็นวันลอยกระทงนั่นเอง ประเพณียี่เป็งนั้นจะเริ่มในวันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งวันนี้จะเรียกว่า วันดา เป็นวันที่เตรียมอาหารขนมหวานต่าง ๆ ไปถวายพระที่วัดในวันถัดไปและวันขึ้น 14 ค่ำ ก็จะพากันไปถวายข้าวของที่วัดและทำบุญ ฟังธรรม มีการเทศน์มหาชาติ และในวันนี้ก็จะช่วยกันตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามด้วยต้นอ้อน ทางมะพร้าว ตลอดจนการประดับประดาด้วยตุง และโคมไฟ และก็จะมีการจุดผางประทีปให้สว่างไสวตลอดทั้งคืน และก็จะมีการจัดทำกระทงทั้งเล็กและใหญ่เพื่อเตรียมนำไปลอยในวันถัดไป
และเมื่อถึง 15 ค่ำ ก็จะนำกระทงเล็ก กระทงใหญ่ต่าง ๆ ที่ได้ตกแต่งให้สวยงามแล้วไปลอยในลำน้ำต่าง ๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ของแต่ละสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ตลอดจนการลอยโคม ซึ่งจะเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศกไปให้ไกล ๆ จากชีวิต แต่หากโคมลอยไปตกที่บ้านของใคร บ้านนั้นถือว่าเป็นลางไม่ดีต้องทำการสะเดาะห์เพื่อขจัดเคราะห์กรรมสิ่งที่ไม่ดีออกไป ในการลอยโคมนั้นจะลอยทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งการลอยกลางคืนนั้นก็จะทำให้บนท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงไฟจากโคมลอย และปัจจุบันได้มีการลอยโคมไฟและจัดประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ในแต่ละพื้นที่ของภาคเหนือเพื่อเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม
3. ประเพณีแห่ครัวตาน
ประเพณีแห่ครัวตาน หรือเรียกกันว่า แห่ครัวทาน เป็นประเพณีภาคเหนือ โดยประเพณีจะเกิดขึ้นเนื่องในโอกาสที่แต่ละหมู่บ้านได้มีงานหรือเทศกาลที่สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น งานฉลองโบสถ์ใหม่ การฉลองวิหารใหม่ ฉลองศาลาใหม่ หรือเป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านนั้น ๆ โดยกลุ่มชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้านก็จะจัดทำขึ้นและก็มีการเชื้อเชิญหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยกัน
โดยเป็นการร่วมมือของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านที่จะเป็นนำเอาสิ่งของอุปโภคและบริโภค หรือแม้จะเป็นวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนจตุปัจจัยต่าง ๆ นำไปถวายวัด แต่การนำไปถวายวัดนั้นจะ ช่วยกันทำครัวตานของแต่ละหมู่บ้านจัดตกแต่งและออกแบบให้สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นรูปจำลองของโบราณสถาน หรือรูปสัตว์ที่อยู่ในนิทานชาดก โดยใช้ของที่ใช้ประโยชน์และจำเป็นตลอดจนพืชผักผลไม้ต่าง ๆ มาจัดตกแต่งเป็นของครัวตาน
เมื่อถึงวันแห่ครัวตาน ก็จะมีรูปขบวนของครัวตาน ซึ่งจะมีป้ายชื่อหมู่บ้านขบวนพานของข้าวตอกดอกไม้ ตลอดจนธูปเทียนต่าง ๆ และอาจจะมีขบวนกองยาว ขบวนฟ้อนรำของนางรำที่สวยงาม และที่ขาดไม่ได้ก็จะต้องมีผู้ประกาศ หรือเรียกว่าโฆษกที่ต้องมีการประชาสัมพันธุ์อธิบายถึงขบวนครัวตานของหมู่บ้านของตัวเอง ไปจนตลอดเส้นทางที่เริ่มต้นไปจบที่วัด หลังจากนั้นก็จะนำไปถวายให้กับเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ในวัดนั้น ๆ พร้อมกับการรับศีลรับพร ก็เป็นอันจบพิธีแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน
4. ประเพณีปอยส่างลอง
ประเพณีปอยส่างลอง หรือเรียกกันว่า งานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีภาคเหนือ และส่วนใหญ่จะพบประเพณีนี้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะจัดขึ้นในปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี เพราะช่วงเวลานี้เป็นการเว้นว่างจากการทำนา และเป็นช่วงที่ปิดภาคเรียน เด็ก ๆ ก็จะว่างจากการเรียนหนังสือในระบบ จึงได้จัดประเพณีงานบวชลูกแก้วให้กับเด็ก ๆ ไปใช้ชีวิตและศึกษาทางด้านศาสนา ฝึกปฏิบัติตามแบบของชาวพุทธ และเป็นกุศโลบายให้เด็ก ๆ ได้สืบสานประเพณีของท้องถิ่นได้ดีและเป็นความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นอานิสงส์ผลบุญสูงสุดในการได้บวชส่างลอง
โดยการแต่งกายของส่างลองนั้นมีความสง่างามตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ โดยการนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับประดาไปด้วยเพชรนิลจินดา สร้อย แหวน กำไล โพกศรีษะด้วยผ้าแพรประดิษฐ์ด้วยดอกไม้และมีคนคอยกางร่มทองคำกันแดด มีพี่เลี้ยงส่วนตัวที่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
วันแรก เรียกว่าวันรับส่างลอง โดยเจ้าภาพจะนำเด็ก ๆ ไปวัดเพื่อแต่งชุดส่างลอง
วันที่สอง เรียกว่า วันข่ามแขก ก็คือวันของการรับแขก โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติพี่น้องที่มาจากหมู่บ้านอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมงาน
วันที่ที่สาม เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันเตรียมเครื่องไทยทาน และแห่เครื่องไทยทานกับส่างลองจากวัดไปยังถนนสายต่าง ๆ ซึ่งขบวนแห่ประกอบไปด้วย ม้าเจ้าเมืองต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ซึ่งเรียกว่า จีเจ่หรือกังสดาล ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ พุ่มเงินพุ่มทอง หม้อน้ำต่าปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง อัฐบริขาร อู่ต่องปานต่อง ขบวนแห่ส่างลองและดนตรีประโคม พี่เลี้ยงที่ให้ส่างลอขี่คอ เรียกว่า ตะแปส่างลอง และมีกลดทองหรือเรียกว่า ทีคำ แบบพม่าไว้บังแดด
วันที่สี่เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ คือวันที่นำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณร ทุกคนก็จะมารอกันที่วัด มีการอ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟัง เรียกว่า การถ่อมลีก จนถึงเวลาฉันเพลก็ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และรับประทานอาหารพร้อมกันของผู้มาร่วมงานก็เป็นอันเสร็จพิธี
5. ประเพณีตานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีภาคเหนือที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล และมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นการถวายทานให้พระโดยไม่มีการเจาะจงผู้รับ โดยจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนสิบสองไปจนถึงเกี๋ยงดับ (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ใต้ – แรม 15 ค่ำ เดือน 11 ใต้) ประเพณีตานก๋วยสลากที่สำคัญของล้านนาภาคเหนือ เนื่องจากว่าประชาชนว่างจากการทำนา และหยุดพักไม่เดินทางไกลในช่วงฤดูฝน และเป็นช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษาที่วัดอย่างพร้อมเพรียง และยังเป็นช่วงที่ผลไม้หลากหลายชนิดกำลังสุก เป็นโอกาสที่จะสงเคราะห์คนยากคนจน และยังถือว่าได้อานิสงส์แรง และก๋วยสลากนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ก๋วยสลากเล็กใช้อุทิศแด่ผู้ตาย และก๋วยสลากใหญ่
ถวายเพื่อเป็นปัจจัยภายหน้า โดยระยะเวลาในการทำก๋วยสลากจะมีด้วยกัน 2 วันด้วยกัน 1. วันนี้จะเรียกว่าวันดา เป็นวันในการเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก ในก๋วยสลากจะประกอบไปด้วย ข้าวปลาอาหารแห้งและข้าวของเครื่องใช้ตามศรัทธา 2.วันทานสลาก จะเป็นการนำก๋วยสลากที่ได้เตรียมไว้ในวันดาแล้ว ก็เอาก๋วยสลากมาทำพิธีเพื่อถวายวัดและทำตามขั้นตอนของทางศาสนา
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ประเพณีภาคเหนือ ทั้ง 5 ประเพณีด้วยกันที่เรียกได้ว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละประเพณีก็มีกิจกรรมที่ไม่แตกต่างกันมากนักในส่วนของการทำพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากประเพณีต่าง ๆ นั้นก็ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากศาสนาเป็นตัวเชื่อมนำประเพณีนั้น ๆ ให้คนไทยรุ่นหลังได้ถือปฏิบัติสืบต่อไป
เครดิตรูป
อ่านต่อที่ ประวัติศาสตร์อยุธยา กับข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย อ่านสบายและได้ความรู้