
ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภาคนั้นมีหลายประเพณีด้วยกัน เฉกเช่นเดียวกับประเพณีของทางภาคใต้ ซึ่งก็มีหลายประเพณีด้วยกัน วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 5 ประเพณีภาคใต้ ที่สำคัญ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ว่ามีประเพณีอะไรกันบ้าง ตามไปดูกันเลย
1. ประเพณีลากพระ
ประเพณีลากพระ หรือทางภาคกลางเรียกว่า ชักพระ เป็นประเพณีภาคใต้ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตามรอยพุทธศาสนาที่ยาวนานมาแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นของทางภาคใต้โดยจะมีการจัด
ขึ้นหลังวันปวารณาหรือเมื่อออกพรรษาแล้ว 1 วัน ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งพุทธศาสนิกชนต่างพร้อมใจกันอารธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่บนพาหนะ โดยพาหนะนั้นอาจเป็นล้อเลื่อน เรือ หรือรถ ซึ่งพาหนะต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า พนมพระ แล้วก็มีการแห่ขบวนชักหรือลากไปตามถนนหรืออาจเป็นลำคลองไปสิ้นสุดที่วัดโดยประเภทของการลากพระจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ การลากพระทางน้ำ โดยใช้เรือและลากพระไปตามลำน้ำลำคลอง และอีกแบบก็คือ การลากพระทางบก เป็นการลากพระโดยใช้รถ ซึ่งเรียกว่า รถพระ โดยจะลากพระไปตามถนน โดยประเพณีลากพระนี้มีความเชื่อกันว่า การได้ลากพระส่งผลให้อานิสงส์แรง ให้ฝนตกตามฤดูกาล และการทำบุญจะช่วยให้บุญกุศลที่ดีเป็นสิริมงคลในชีวิตนอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีของคนชุมชนและเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามจากรุ่นสู่รุ่น
ซึ่งก็จะมีการเตรียมและตลอดจนวันงานดังนี้
1.การเตรียม เริ่มจากการเตรียมหุ้มโพน เพื่อใช้ประโคมในวันพิธีซึ่งการเตรียมโพนนี้จะมีการทำที่ซับซ้อนต้องใช้ทักษะและความชำนาญ
เป็นพิศษ โดยโพนนั้นจะมี 2 ใบ หากวัดไหนโพนเสียงดีชนะการแข่งขันก็จะเป็นที่น่ายินดีแก่วัดและหมู่บ้านนั้น ๆ และการเตรียมทำเรือพระ
ชาวบ้านและพระในวัดจะช่วยกันทำบุษบก หรือเรียกว่า เรือพระ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการจัดตกแต่งให้สวยงาม และจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อนำมาลากพระ ซึ่งการเตรียมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมความสามัคคีไปชุมชน
2.วันลากพระ เมื่อถึงวันลากพระ ทุกชุมชนของหมู่บ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันลากพระจากจุดเริ่มต้นของขบวน โดยจะมีขบวนลากพระของแต่ละหมู่บ้านซึ่งก็จะมีการตกแต่งสวยงามและประดับประดาไปด้วยงานวิจิตรศิลป์ที่แต่ละวัดและหมู่บ้านช่วยกันสร้างขึ้นมา และในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้นโดยแต่ละจังหวัดในภาคใต้ก็มีการจัดกิจกรรมชักพระ หรือลากพระนี้อย่างยิ่งใหญ่ และที่พลาดไม่ได้เลยก็คือมีการแข่งขันที่สนุกสนานของการแห่พระแข่งเรือ ซึ่งประเพณีลากพระนี้ก็ทำให้ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมและร่วมกิจกรรมในการจัดประเพณีนี้กันอย่างขับคั่ง เรียกได้ว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับจังหวัดโดยการทำกิจกรรมผ่านประเพณี
2. ประเพณีลอยเรือ
ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีภาคใต้ โดยยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม อูรักลาโวย ซึ่งเป็นชาวเลที่ใช้ชีวิตตามริมฝั่งทะเล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน จ. กระบี่และจังหวัดที่ใกล้เคียง มีวิถีชีวิตด้านการประมงเป็นหลักและเรือประมงคือสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีพจึงมีความเชื่อกันว่า การลอยเรือนั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมต่าง ๆ เป็นการส่งวิญญาของบรรพบุรุษให้กลับบ้านเมืองเดิม และถือเป็นการส่งสัตว์เพื่อไถ่บาป ซึ่งก็กำหนดให้เรือนั้นเป็นพาหนะที่เป็นตัวแทนในการส่งวิญญาณของคนและสัตว์ไปยังอีกภพภูมิที่ดี และก็ยังเชื่อว่าการลอยเรือเป็นการทำนายสภาพดินฟ้าอากาศ จึงได้จัดประเพณีลอยเรือขึ้นในทุกปี ในวันขึ้น 13-14 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ซึ่งเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านช่วยกันทำเรือที่ประดับด้วยไม้และแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ ที่สื่อเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นรูปนกเกาะหัวเรือที่หมายถึง โต๊ะบุหรง ที่ชาวอูรักลาโวยเชื่อว่าบรรพบุรุษสามารถห้ามลมหามฝนได้ และลายฟันปลา คือ โต๊ะบิกง คือบรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูคือ โต๊ะอาโฆะเบอราไตย และตุ๊กตาไม้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะรับเอาทั้งความทุกข์ยาก เคราะห์กรรมต่าง ๆ และโรคภัยไข้เจ็บของคนในครอบครัวได้เดินทางไปกับเรือด้วย โดยพิธีจะประกอบไปด้วย 3 วัน คือ
วันที่ 1ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ ทุกคนจะพร้อมใจกันไปที่บริเวณที่ทำพิธี โดยทางฝ่ายชายจะช่วยกันสร้างและซ่อมที่พักขึ้นมาที่จุดทำพิธีชั่วคราว
ส่วนฝ่ายผู้หญิงก็จะช่วยกันทำขนม และในตอนเย็นก็จะนำอาหารต่าง ๆ ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อบอกกล่าวให้เขามาร่วมพิธีลอยเรือ
วันที่ 2 ขึ้น 14 ค่ำ ฝ่ายชายจะไปตัดไม้นำมาสร้างเรือ ฝ่ายหญิงออกมาร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งมีความเชื่อกันว่าการร่ายรำนั้นจะได้บุญกุศล และเตรียมขบวนแห่รอรับไม้ที่ฝ่ายชายไปหามาได้ แล้วก็ทำการแห่งไปรอบ ๆ บริเวณศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ โดยเรียกชื่อว่า ปลาจั๊ก และในเวลากลางคืนก็จะมีการฉลอง การร่ายรำรอบเรือเพื่อเป็นการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ และในเวลาเที่ยงคืน โต๊ะหมอจะดำเนินพิธีฉลองเรือและพิธีสาดน้ำ เลฮุบาเลฮ
วันที่ 3 วันที่ 3 ขึ้น 15 ค่ำ เริ่มทำพิธีในตอนเช้าตรู่ แล้วก็นำเรือไปลอยในจุดที่เรือจะไม่มีทางลอยกลับเข้าฝั่งได้อีก หลังจากที่เสร็จพิธีของการลอยเรือ ฝ่ายชายก็จะออกไปตัดไม้อีกรอบพร้อมกับหาใบกะพร้อมาทำไม้กันผีสำหรับใช้ในพิธีฉลองในตอนกลางคืน และใกล้สว่างโต๊ะหมอก็ทำพิธีเสกน้ำมนต์เพื่อทำนายโชคชะตา และทำการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์และเป็นอันเสร็จพิธีก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน จะทำการปักไม้กันผีไว้รอบ ๆ หมู่บ้าน
3. ประเพณีสารทเดือนสิบ
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีภาคใต้ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำกรรมชั่วก็จะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทุกข์ทรมาน เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษได้หลุดพ้น ลูกหลานจึงต้องทำการอุทิศส่วนกุศลนั้นไปให้ ดังนั้นทุกวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ จึงมีการจัดประเพณี
สารทเดือนสิบเพราะเชื่อว่าเปรตจะได้ปล่อยตัวกลับมายังโลกของมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน และจะกลับไปยังภพภูมิเปรตอีกครั้งในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ และนอกจากความเชื่อเรื่องการของส่วนบุญขอเปรตจากลูกหลานแล้ว ก็ยังเป็นการให้ลูกหลานได้สืบสานประเพณี และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันส่งผลให้มีความรักความสามัคคีต่อกันและมีโอกาสได้ทำบุญเพื่ออุทิศกุศลให้กับผู้ล่วงลับ
เรียกว่าเป็นการแสดงความกตัญญูของลูกหลานต่อบรรพบุรุษอีกด้วย
โดยมีกิจกรรมดังนี้
วันที่ 1 วันแรก 13 ค่ำเดือนสิบ วันนี้เรียกว่า วันจ่าย โดยแต่ละบ้านก็จะจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนข้าวปลาอาหารแห้งมาเตรียมไว้ใส่ภาชนะไว้ไม่ว่าจะเป็นตะกร้า ชะลอม กระบุง และอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่า หมรับ หรือสำรับนั่นเอง โดยมีการจัดตกแต่งให้สวยงาม และจะต้องมีขนม 5 ชนิดที่ขาดไม่ได้เลยเพราะเชื่อกันว่าจะเป็นสิ่งที่ผีเปรตรับไปใช้ในเมืองนรกก็คือ ขนมลา เปรียบเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม ขนมบ้าหรือขนมมด เปรียบเป็นเมล็ดสะบ้า เอาไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์ขนมพอง เปรียบเป็น แพเอาไว้ข้ามห้วงมหรรณพ ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เปรียบเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย และขนมดีซำ เปรียบเป็นเงินตรา
วันที่สอง แรม 14 ค่ำเดือนสิบ วันนี้เรียกว่าวันยกหมรับ หรือวันตั้งเปรต ก็คือการยกสำรับต่าง ๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วไปถวายพระที่วัด
หลังจากนั้นก็ทำพิธีตั้งเปรต คือการนำเอาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่นำมานั้นวางไว้บนแผ่นกระดานขนาดใหญ่ หรือจุดต่าง ๆ และบางที่อาจทำเป็นเสาสูงและลงน้ำมันเพื่อให้ลื่น เรียกว่า หลาเปรต
หลังจากที่ทำพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เปรตแล้ว พิธีการต่อไปคือ การชิงเปรต ซึ่งช่วงเวลานี้ก็จะเป็นกิจกรรมแย่งชิงนำข้าวของที่อุทิศให้เปรตเสร็จแล้ว
นั่นเอง เพราะเชื่อกันว่าหากใครได้กินอาหารที่อุทิศให้กับเปรตนั้นแล้วก็จะได้รับกุศลและเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง
วันที่สาม แรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวัน ฉลองหมรับ หรือเป็นวันสารท ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำบุญที่ครบสมบูรณ์ วันนี้จะเป็นการทำบุญเลี้ยงพระพิธีบังสกุลกระดูกอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับและเป็นวันสุดท้ายของงาน เรียกว่าวันส่งเปรตนั่นเอง
4. ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีภาคใต้ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เชื่อกันว่า การได้ทำบุญจะได้กุศลจริง ๆ คือการ
ทำบุญที่ปฏิบัติต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ พระพุทธรูป และการที่นำผ้าไปถวายและบูชาที่พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการโอบล้อมรอบองค์พระ และบรมธาตุเจดีย์นั้น
ถือว่าเป็นการได้บูชาที่แนบสนิทและใช้ชิดกับพระพุทธองค์ นอกจากนี้ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการการยึดมั่นในพุทธศาสนา และการทำบุญนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตตนเองและครอบครัว และองค์พระบรมธาตุเจดีย์คือศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงได้เกิดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ โดยจะจัดปีละ 2 ครั้ง คือในวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 และวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 โดยจะเป็นการนำผ้าไปห่มให้กับองค์พระธาตุเจดีย์ ณ วันพระมหาธาตวรมหาวิหาร
โดยจะมีพิธีกรรมดังนี้
1.การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ โดยผ้าที่นำมาห่มพระธาตุนั้น มักนิยมเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีแดง โดยจะต้องเตรียมผ้ามาเองตามขนาดและตามความต้องการของตนเอง อาจเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่และยาวเพื่อจะได้ห่มให้รอบองค์พระธาตุ ในสมัยก่อนนั้นจะมีการตกแต่งผ้าให้มีความสวยงาม และมีการวาดภาพพุทธประวัติลงไปในผ้าทั้งผืนโดยช่างที่ชำนาญ แต่ปัจจุบันจะใช้เพียงผ้ายาวแบบเรียบ ๆ เท่านั้น
2.จัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศก็จะมีการจัดขบวนแห่โดยมักจะมีดนตรีนำหน้าขบวน เพื่อบรรเลงเพลงที่ให้จังหวะครื้นเครงและขบวนผ้าที่ยาวไปตามความยาวของผ้า โดยจะถือผ้าไว้เหนือศีรษะ แล้วก็แห่ขึ้นไปยังวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร
3.เมื่อขบวนแห่ไปถึงวัดแล้ว จะมีหัวหน้าคณะกล่าวนำถวายผ้าพระบฎ หลังจากนั้นก็แห่ขบวนทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์จำนวน 3 รอบด้วยกัน แล้วนำผ้าเข้าสู่ลายภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์โดยตัวแทนสามถึงสี่คน ล้อมรอบจนสิ้นความยาวของผ้า ก็เป็นอันเสร็จพิธี
5. ประเพณีตักบาตรธูปเทียน
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีภาคใต้โดยเป็นประเพณีที่ร่วมกับวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของประชาชนเมืองนครศรีธรรมราชที่ร่วมกันตักบาตรถวายดอกไม้ธูปเทียนในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.เป็นต้นไป โดยมีพระสงฆ์ที่มาจากหลายวัดด้วยกันพร้อมเพรียงกันที่วัดมหาธาตุ ยืนเรียงแถวกับ ณ บริเวณลานหน้าวัดประตูทางเข้าระเบียงวิหารไปจนถึงในวิหารทับเกษตร และประชาชนก็เตรียมดอกไม้ธูปเทียนใส่ถาดมาถวายใส่ย่ามของพระสงฆ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการตักบาตรโดยทั่วไป แต่แตกต่างกันก็คือเป็นการทำบุญตักบาตรด้วยดอกไม้ธูปเทียนแทนข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์และสามเณรได้นำไปบูชาพระและสวดมนต์ได้ตลอดพรรษาเมื่อตักบาตรด้วยธูปเทียนเสร็จแล้ว ประชาชนก็จะไปจุดธูปบูชาพระพุทธรูป บูชาบัวอัฐ บูชาเจดีย์และวิหาร เพื่อเป็นการบูชาศาสนสถานและอุทิศส่วนกุศล ตั้งจิตอธิษฐานขอพรและเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 5 ประเพณีภาคใต้ ที่สำคัญ ซึ่งแต่ละประเพณีนั้นมักจะเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ช้านานและปัจจุบันก็ยังมีประเพณีเหล่านี้อยู่ และบางประเพณีก็ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีให้แก่ลูกหลานได้สืบทอดต่อไปให้ยาวนาน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดและภาคใต้ไปด้วย เมื่อถึงประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมกันอย่างคับคั่งกันเลยทีเดียว
เครดิตรูป
อ่านต่อที่ 10 งานเทศกาลญี่ปุ่น ที่จะพาคุณสนุกสนานครื้นเครง ไปกับวัฒนธรรมอันน่าหลงไหล