
วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประวัติของ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช ผู้สร้างศิลาจารึก และกษัตริย์สมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ไปดูกันว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงมีพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นด้านต่าง ๆ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย
1. พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง
พ่อขุนรามคำแหง เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหง พญามังรายแห่งล้านนา เป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันที่ สำนักพระสุกทันตฤาษี จึงคาดว่าพ่อขุนรามคำแหงน่าจะมีอายุรุ่นเดียวกันกับพญามังราย โดยพญามังรายได้ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 ขณะที่พ่อขุนรามฯ มีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงทำยุทธหัตถี และทำการชนะต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด จึงได้พระนามว่า พระรามคำแหง ที่แปลว่า พระรามผู้กล้าหาญ ภายหลังที่พระบรมชนกนาถสวรรคต พระพ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองราชย์ และพ่อขุนรามคำแหงจึงได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย
และพ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์ ประมาณ พ.ศ. 1820 ซึ่งจากหลักฐานที่ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้ค้นพบว่ากษัตริย์ไทยอาหมถือเอาประเพณีปลูกต้นไทรตอนขึ้นเสวยราชย์ โดยมีถึงเจ็ดรัชกาลด้วยกัน เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับรัชกาลให้ยืนยงเหมือนกับต้นไทร เนื่องจากต้นไทรและต้นตาลเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเหตุให้ นายตรี อมาตยกุลจึงได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1820 พ่อขุนรามคำแหงเสด็จสวรรคต ปี พ.ศ. 1842 ตามการบันทึกของประวัติศาสตร์หยวนจีน และพระยาเลอไทย พระโอรสของพระองค์ได้ครองราชย์ต่อจากพระองค์
2. การเมืองการปกครองสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากก่อนหน้านั้นเมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่มีอาณาเขตที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก การปกครองจึงเป็นลักษณะพ่อปกครองลูก คือการปกครองแบบครอบครัว แต่หลังจากพ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มมีเปลี่ยนแปลง การขยายอาณาเขตที่กว้างขวางขึ้นการปกครองจึงต้องเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น ความสัมพันธ์ของผู้นำกับราษฎรจึงแตกต่างไปจากเดิม จากพ่อปกครองลูก ก็มาเป็นกษัตริย์และราษฎรให้มีการเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ในการปกครองที่สูง และทรงใช้หลักธรรมในการมาเป็นแนวทางในการปกครอง ดังปรากฎในศิลาจารึก ที่บัญญัติไว้ใช้พระราชอำนาจดังนี้ ราษฎรสามารถค้าขายกันได้อย่างเสรี เจ้าเมืองไม่มีการเรียกเก็บจังกอบ หากผู้ใดล้มตาย ทรัพย์มรดกให้ตกเป็นของบุตร และหากผู้ใดไม่ได้รับความยุติธรรมจากข้อพิพาท ให้มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนหน้าประตูเพื่อเป็นการถวายฏีกาต่อพระมหากษัตริย์โดยพระองค์จะเป็นคนตัดสินเอง
3. เศรษฐกิจและการค้าขาย
พ่อขุนรามคำแหงได้มีการสร้าง สรีดภงส์ ทำนบกักน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกและบริโภคในยามขาดแคลนให้กับตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง โดยใช้แนวคันดินของเขื่อนพระร่วง ทำให้มีน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นและขาดแคลน ให้มีการค้าขายได้อย่างเสรีโดยไม่เก็บภาษีจังกอบ หรือภาษีผ่านด่านนั่นเอง โดยปรากฎในศิลาจารึกว่า “เจ้าเมือง บ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” และยังมีหลักฐานบนศิลาอีกด้วยตอนหนึ่งว่า ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า จากข้อความทำให้เห็นว่า พระองค์ทรงส่งเสริมให้มีการค้าขาย และยังมีหลักฐานอีกข้อความว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัย มีตลาดปสาน” แสดงให้เห็นว่าได้มีการขยายการค้าขายไปในบริเวณที่กว้างขวาง และตลาดปสานคือแหล่งสำคัญในการค้าขายในสมัยสุโขทัย และยังมีการผูกมิตรไมตรีค้าขายกับชาวจีนโดยให้ชาวจีนมาก่อตั้งโรงงานทำเตาถ้วยชามในการค้าขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเรียกถ้วยชามนั้นว่า ชามสังคโลก
4. การขยายอาณาเขต
พ่อขุนรามคำแหงได้มีการขยายอาณานิคมออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ดังนี้โดยทาง
ทิศตะวันออก ได้รบชนะเมืองสรหลวงสองแคว หรือเมืองพิษณุโลก เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย และข้ามไปฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงเวียงจันทร์และเวียงคำในลาว
ทางทิศตะวันตก ได้ขยายเมืองไปยังเมืองฉอด มีสมุทรเป็นเขตดินแดนของไทย
ทางทิศเหนือ ได้ขยายเมืองแพร่ น่าน และเมืองพลัว หรือปัว ในปัจจุบัน และข้ามฝั่งโขงไปยังเมืองชวา หรือหลวงพระบาง เป็นเขตดินแดนของไทย
ทางทิศใต้ ได้ขยายอาณาเขตไปถึงบ้านโคน กำแพงเพชร พระบางหรือนครสวรรค์ แพรกหรือชัยนาท สุพรรณฯ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ราชบุรี โดยมีฝั่งทะเลสมุทรเป็นเขตดินแดนของไทย
5. ศาสนาและวัฒนธรรม
พ่อขุนรามคำแหงได้สร้างและประดิษฐ์ตัวอักษรของไทยขึ้นมาใช้แทนตัวอักษรของขอม เมื่อ พ.ศ. 1820 และมีการประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ขึ้นมาเพิ่มและพัฒนาด้านการเขียนคำให้แทนเสียงพูดในแต่ละคำ และจัดวางเรียงพยัญชนะ สระให้อยู่ในบรรทัดเดียวกัน ทำให้มีการอ่านและเขียนที่ง่ายและสะดวกขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้มีภาษาไทยใช้มาจนถึงปัจจุบัน และให้มีการจารึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระองค์ลงในศิลาจารึก ทำให้คนไทยได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยได้จากศิลาจารึกนั่นเอง
และในส่วนของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงรับเอาพระพุทธศานานิกายเถรวาท ของลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา เข้ามาโดยผ่านเมืองนครศรีฯ นำมาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระพุทธศาสนาจึงได้วางรากฐานอย่างมั่นคงที่อาณาจักรสุโขทัยและเผยแพร่ไปยังเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียง และทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้ผูกไมตรีขอพระราชทานพระพุทธรูปของ พระพุทธสิหิงค์จากศรีลังกามาเพื่อเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของไทยสืบไป
6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พ่อขุนร
พ่อขุนรามคำแหงได้ใช้การผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์ทางการฑูตแทนการทำสงครามการรบ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาได้ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราชผู้ซึ่งเรียนจบพระไตรปิฏกมาจากนครศรีฯ ให้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัย
และในส่วนของอาณาจักรมอญ ได้มีพ่อค้าที่เข้ามารับราชการในสำนักของพ่อขุนรามฯ ชื่อ มะกะโท และได้รักใครกับ เจ้าเทพธิดาสร้อยดาว พระธิดาของพ่อขุนรามฯ
แล้วได้หนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ สุดท้ายก็ได้มาขออภัยโทษ และยินยอมเป็นเมืองประเทศราชของสุโขทัย พ่อขุนรามฯจึงอภัยโทษให้และพระราชทานนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว
และได้ผูกมิตรไมตรีกับพญามังรายแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยา โดยเปิดทางให้พญามังรายขยายอาณาจักรล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก และยังเสด็จไปช่วยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1839 อีกด้วย
ในส่วนของเมืองละโว้ ก็ได้ผูกมิตรไมตรีให้ปล่อยเป็นเมืองเอกราช เพราะยังมีการส่งเครื่องบรรณาการไปจีน และยังได้ส่งราชฑูตไปสัมพันธ์ไมตรีกับจีนอยู่
เป็นอย่างไรกับบ้างกับประวัติ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช ผู้สร้างศิลาจารึกที่ให้คนไทยได้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ถึงความเป็นมาและลักษณะเด่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและการค้าขาย การขยายอาณาเขต ศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการฑูตทั้งในและต่างประเทศ หวังว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้จะทำให้พวกเราสนุกกับการอ่าน และรับรู้เรื่องราวในอดีต
เครดิตรูป
อ่านต่อที่ เปิดประวัติ กรุงธนบุรี จุดเริ่มต้นเมืองหลวงของไทย