มหาตมา คานธี (ชื่ออังกฤษ : Mahatma Gandhi) ผู้ซึ่งเป็นผู้นำและนักการเมืองคนสำคัญที่มีชื่อเสียงของชาวอินเดียและศาสนาฮินดู มีชื่อเต็มว่า โมหันทาส กรรมจันท คานธี (คุชราต: મોહનદાસ કરમચંદ ગાંધી) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869
ค.ศ. 1916 มหาตมา คานธี ได้เริ่มก่อกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนชาวอินเดีย และเรียกร้องโดยวิธีการขอความร่วมมือผนึกกำลังคนละเล็กคนละน้อยมาเรื่อย ๆ จนก่อเกิดเป็นพลังที่สั่นประเทศได้ ในช่วงนั้นประเทศอินเดียได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้มีการเรียกร้องสิทธิของประเทศ ที่อังกฤษพยายามกดขี่ชาวอินเดีย ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือ ใน ค.ศ. 1919 ได้มีการประกาศกฎหมาย Rowlatt ขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่กดขี่ชาวอินเดียอย่างชัดเจนคานธี จึงกระทำการประกาศในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1919 ขอความร่วมมือให้ประชาชนอินเดียหยุดงาน และประชาชนเป็นล้าน ๆ คนก็ได้หยุดงานในวันนั้น ทำให้เกิดการสั่นคลอนอำนาจรัฐบาลอังกฤษอย่างชัดเจน คานธีรู้สึกอัศจรรย์ แต่ไม่นานก็ทำพบกับข้อเสียของการใช้วิธีสัตยาเคราะห์ในสังคมขนาดใหญ่ อย่างอินเดีย
ส่วนข้อเสียนั้นคือ ได้มีบางแห่งที่เกิดบานปลาย มีการต่อสู้ใช้กำลังขึ้น ทำให้รัฐบาลอังกฤษใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมตัวคานธี แต่เมื่อคานธีถูกจับกุมไป ตามเมืองต่าง ๆ ประชาชนเกิดความแค้นเคือง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายจนเกือบกลายเป็นเหตุจราจลระดับประเทศ ทำให้หลังจากนั้นคานธี ได้รับอิสระในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 เมื่อได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดบานปลายนี้ คานธีรู้สึกเสียใจอย่างมาก จึงประกาศอดอาหารตนเองเป็นเวลา 3 วัน แต่ทว่าในวันนั้นเอง เป็นวันที่ตรงกับวันนักขัตฤกษ์ของประเทศอินเดีย ประชาชนนับพัน ๆ คนได้ไปรวมตัวยัดงานสังสรรค์กันที่สวนสาธารณะชัลลียันวาลา เมืองอมฤตสระ และในวันนั้น นายพล Dyer ผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษในอมฤตะ ในเวลานั้น รู้สึกเคียดแค้นต่อประชาชนชาวอินเดีย และต้องการที่จะให้ชาวอินเดียรู้ถึงอานุภาพของกองกำลังอังกฤษ จึงได้ออกคำสั่งให้กองทัพรัวกระสุนปืนใส่ประชาชนในชัลลียันวาลา จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยประมาณ 1,500 ศพ และบาดเจ็บประมาณ 3,000 คน นับเป็นการปฏิบัติการทางการทหารที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเสื่อมเสียเกียรติยศอย่างยากจะฟื้นตัว
การต่อสู้เพื่อประชาชนชาวอินเดียยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ใน ค.ศ. 1922 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ใช้กำลังต่อสู้กันอีกครั้งคานธี ก็ได้ถูกจับกุมอีกครั้งในฐานะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 6 ปี แต่ก็ถูกปล่อยตัวออกมาก่อนเนื่องเพราะเหตุผลทางสุขภาพใน ค.ศ. 1924 และตั้งแต่ถูกปล่อยตัวออกมา คานธีก็ได้หันไปจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภายในประเทศอินเดียก่อน อย่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท การถือชนชั้นวรรณะในประเทศอินเดีย แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูกับมุสลิม หรือปัญหาความไม่เสมอภาคของทสตรีทางสังคม และปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการกดขี่จากต่างประเทศ
ใน ค.ศ. 1930 มหาตมา คานธีได้หวนกลับคืนสู่สังเวียนการเมืองอันเร่าร้อนอีกครั้ง โดยเพราะต้องการประท้วงกฎหมายจากอังกฤษ ที่สั่งห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง นับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะไม่ให้คนอินเดียได้ใช้ทรัพยากรของอินเดีย โดยในวันที่ 12 มีนาคม มหาตมา คานธีได้เดินทางไปยังชายทะเลในตำบลฑัณฑี ไปพร้อมกับประชาชนร่วมแสนคนที่พร้อมใจไปกับคานธี คานธีเดินทางเป็นเวลา 24 วัน 400 กิโลเมตร เพื่อไปถึงชายทะเล คานธีประกาศบอกประชาชนร่วมแสนคนนั้นให้ร่วมกันทำเกลือกินเอในวันนั้น จึงทำให้คานธีและประชาชนนับแสนได้ทำเกลือจากทะเลกินเอง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของอังกฤษตั้งเอาไว้
ทำให้ทางการอังกฤษ เกิดการดันทุรังจับกุมตัว มหาตมา คานธีและประชาชนร่วมแสนคนในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1930 จึงทำให้จำนวนแรงงานอาชีพในอินเดียหายไปเป็นจำนวนมากในเวลานั้น จึงเป็นเหตุทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษเกิดความปั่นป่วนอย่างมาก จนทำให้ต้องปล่อยตัวประชาชนออกมาเรื่อยๆ และทางรัฐบาลอังกฤษก็ได้ปล่อยตัวคานธีใน ค.ศ. 1931 และในปีนั้นเอง คานธีได้ถูกเชิญตัวไปร่วมประชุมหารือกับรัฐบาลอังกฤษ โดยที่มีนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นเป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ยังได้ผลอะไรมากนัก
เมื่อมหาตมา คานธีกลับมายังอินเดีย ก็ได้ถูกจับกุมอีก และก็ถูกปล่อยตัวอีก และหลังจากถูกปล่อยตัว ก็ได้ใช้เวลาไปพัฒนาชนบทอีกครั้ง จนเมื่อถึง ค.ศ. 1939 ที่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คานธีก็กลับเข้าสู่วงการเมืองอีก ได้มีการเดินขบวนรณรงค์ แล้วก็ถูกจับกุมอีกครั้งใน ค.ศ. 1942 แต่การจับกุมครั้งนี้ ระหว่างที่อยู่ในคุก กัสตูรบา ภรรยาของคานธี ได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1944 แล้วก็ถูกปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1945 ที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเวลานั้นได้ประกาศจะให้ประเทศอินเดียได้ปกครองตนเอง นับเป็นการที่จะได้รับอิสระของแระเทศอินเดียอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ว่าก่อนจะให้อิสระแก่ประเทศอินเดีย อังกฤษจะต้องหารัฐบาลที่เป็นชาวอินเดีย ที่จะมาปกครองอินเดียต่อจากอังกฤษ ในช่วงแรก ๆ ของการมีอิสระครั้งนี้ของอินเดียในช่วงยุคแห่งเทคโนโลยี แต่ทว่า ก็ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ ระหว่างพรรคคองเกรส(กลุ่มคนที่นับถือศาสนาฮินดู) กับสันนิบาตมุสลิม ว่าใครจะมาปกครองประเทศ ทำให้การให้อิสระแก่อินเดียล่าช้าออกไป
ใน ค.ศ. 1946 ได้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในประเทศอินเดีย จนเป็ยเหตุให้เกิดการนองเลือดรุนแรงไปทั่วทุกพื้นที่ คานธีมีความรู้สึกเสียใจมาก กับการที่อิสรภาพของประเทศอินเดียที่อยู่แค่เอื้อม แต่ยังไม่ทันที่จะได้อิสรภาพมา ประชาชนอินเดียก็เกิดทะเลาะกันเองเสีย คานธีจึงหอบสังขารในวัย 77 ปี ลงเดินเท้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อที่จะขอร้องให้ประชาชนอินเดียหันกลับมาสามัคคี และหยุดทะเลาะกันเสียที ประชาชนชาวอินเดียที่ได้เห็นคานธีทำแบบนี้ก็รู้สึกตัว ได้เลิกทะเลาะกัน เกิดความสงบสามัคคีขึ้นมาในชนบทได้ และเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1947 ก็ได้มีการเจรจาตกลงกันระหว่างพรรคคองเกรสกับสันนิบาตมุสลิม ทำให้ได้ผลสรุปคือ เมื่อประเทศอินเดียได้รับเอกราช จะทำการแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน โดยให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนฮินดู ดำรงเป็นประเทศอินเดียของพรรคคองเกรส และในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม จะให้เป็นประเทศปากีสถาน มีปกครองโดยสันนิบาตมุสลิม
ในที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1947 อินเดียก็ได้เป็นอิสระจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ และในวันนั้นเองอินเดีย ก็แตกเป็น 2 ประเทศ คือประเทศอินเดียของชาวฮินดู กับประเทศปากีสถานของชาวมุสลิม
อย่างไรก็ตามการเดินหน้าของแก้ปัญหาของ คานธี ยังไม่ได้จบลงแค่นั้น ยังคงเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังเกิดความขัดแย้งทางศาสนาขึ้น และให้วิธีการ “อหิงสา” สันติวิธี ในการจัดการเพื่อความสงบสุขเช่นเดิม
และในวันที่ 30 มกราคม ปี ค.ศ. 1948 ในช่วงเวลาเย็น ขณะที่คานธีอยู่กลางสนามหญ้า และกำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร ขณะที่คานธีกำลังพูดว่า “เห ราม” ที่แปลว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า” ก็ได้ถูกนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ผู้ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิม ยิงปืนใส่คานธี จำนวน 3 นัด จนคานธีล้มลง เมื่อแพทย์ได้มาพบคานธี ก็พบว่า คานธีได้สิ้นลมหายใจแล้วในวัย 78 ปี
มหาตมา คานธี (ค.ศ.1869-1948) เป็นชื่อที่พูดถึงกันทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อคานธีสามารถนำประชาชนในประเทศอินเดียเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิของอังกฤษได้สำเร็จ กับวิธีการที่ชาญฉลาดแบบที่ชาวตะวันตกคาดไม่ถึง ด้วยหลักการแห่ง “อหิงสา” ทำให้สามารถเรียกร้องเอกราชและศักดิ์ศรีกลับคืนสู่ประเทศและประชาชน คือ (ความไม่เบียดเบียน, ความไม่รุนแรง) อารยธรรมทางด้านจิตใจของคนทวีปเอเชีย ได้ประจักษ์ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าอยู่เหนืออารยธรรมทางด้านวัตถุ ที่ครบครันไปด้วยสรรพาวุธของคนทวีปตะวันตก ด้วยอำนาจแห่งสัจจะและความรักเท่านั้นที่ปัญหาของมวลมนุษยอาจแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวทาง อหิงสา ของมหาตมะ คานธี นั้นอบอวลไปด้วยบรรยากาศทางศาสนา ที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้ และเขาพยายามเน้นคำว่า “สัตยะ” ที่หมายถึง ความจริง จะให้กล่าวก็คือ อหิงสาและการยึดมั่นในสัจจะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน
สัตยาเคราะห์ คือ เทคนิค วิธีการ โดยลักษณะสำคัญ คือ ยึดมั่นในสัจจะที่แถลงออกไป กำกับด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงและน้อมรับความทุกข์ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ความสำเร็จของ คานธี กับการใช้หลัก อหิงสา ในทางการเมือง ไม่อาจวัดได้จากชัยชนะที่ได้รับเอกราชของอินเดียเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง รวมถึงขบวนการที่ใช้ “ความรุนแรง” ด้วย แต่คานธี ได้ทำให้สังคมเกิดทางเลือกใหม่ ๆ ในการจัดการกับความขัดแย้งโดยใช้สันติวิธีอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งเป็นที่ต้องการที่สุดของมนุษย์ทุก ๆ คน
ในทางนิรุกติศาสตร์ คำว่า “หิงสา” และ “อหิงสา” เป็นคำโบราณของอินเดีย ที่ปรากฏร่องรอยให้พบตั้งแต่สมัยพระเวท (ประมาณ 1,000 – 1,500 ปีก่อนคริสตกาล)
โดยคำว่า “หิงสา” ได้ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท ‘rgveda’ ซึ่งคำนี้นี้มีรากคำจากธาตุ “หึสฺ” ซึ่งมีความหมายว่า “การทำให้เกิดความเจ็บปวด” ในสมัยนั้นยังไม่ได้มีความหมายถึง “การฆ่า” อย่างที่เข้าใจกันในทุกวันนี้
ส่วนคำว่า “อหิงสา” ที่มีความหมายตรงกันข้ามนั้น เริ่มมีปรากฏที่เป็นคำนามครั้งแรกในคัมภีร์ไตติรียสํหิตา มีความหมายว่า “การไม่ทำอันตราย แก่ผู้บูชายัญ” แต่นักวิชาการทางภารตวิทยาบางท่านอย่าง Rhys Davids คิดความเห็นต่างออกไปว่า อหิงสา น่าจะถูกใช้ในฐานะที่เป็นคำนามครั้งแรกในคัมภีร์ ฉานโทคยะอปุนิษัท ถึงอย่างไรก็ตาม ความหมายของคำทั้งสอง ก็ได้มีความซับซ้อนมาตั้งแต่สมัยพระเวทแล้ว
อหิงสา ที่มักถูกอ้างถึงในเคลื่อนไหวทางการเมือง และกล่าวถึงเป็ยอย่างมาก ในช่วงที่มีการเรียกร้องเอกราชของชาวอินเดีย โดย คานธี จนทำให้แนวคิดดังกล่าวนี้ได้ขยายไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
และในสังคมไทย ได้รับอิทธิพลการเคลื่อนไหวจากแนวทางของ คานธี เช่นกัน แต่เมื่อไหร่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มักพบว่าหลายครั้งที่มีการกล่าวถึง หลัก “อหิงสา” นั้น จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ชัดเจนและมีการตีความที่แตกต่างกันไป จึงต้องดูบริบทของเหตุการณ์นั้นด้วยอีกทีหนึ่ง
อ่านบทความ โฮจิมินห์ นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ วีรบุรุษของชาวเวียดนาม
อ้างอิ้ง